ประวัติความเป็นมา #
วัดโสธรวราราม เป็นวัดเก่าแก่ มีประวัติความเป็นมายาวนานสืบไปถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย ตามประวัติกล่าวว่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๐ เดิมมีชื่อว่า “วัดหงส์” เพราะมีเสาหงส์อยู่ในวัด เป็นเสาสูงมียอดเป็นตัวหงส์อยู่ปลายเสา ต่อมาได้เกิดพายุใหญ่พัดให้หงส์บยอดเสาตกลงมาเหลือแต่ตัวเสา ชาวบ้านจึงนำธงขึ้นไปแขวนแทน และจากนั้นจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดเสาธง” ต่อมาก็เกิดพายุพัดเสาธงหักอีก จึงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดเสาธงทอน”[1]

การตั้งเสาหงส์และเสาธงนั้น เป็นวันธรรมประเพณีตามความเชื่อแบบชาวมอญ จึงมีผู้สันนิษฐานว่า เมื่อแรกสร้างวัดแห่งนี้ อาจมีความเกี่ยวข้องกับชาวมอญหรือชุมชนมอญมาก่อน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่ปรากฏหลักฐานใดที่สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานดังกล่าว
ตำนานเล่า #
ตามตำนานเล่าว่า ราว พ.ศ. ๒๓๑๓ เกิดเรื่องราวปาฏิหาริย์มีพระพุทธรูปพี่น้อง ๓ องค์ ลอยน้ำลงมาพร้อมกันจากหัวเมืองเหนือ และชาวบ้านได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์หนึ่งมาประดิษฐาน ณ วัดนี้ “วัดเสาธงทอน” จึงเปลี่ยนเป็นชื่อ “วัดโสทร” ซึ่งคำว่า “โสทร” ในที่นี้ อาจแปลความหมายได้ว่า “พี่น้องร่วมท้องเดียวกัน” ซึ่งพ้องกับประวัติของพระพุทธรูป ๓ พี่น้องก็เป็นได้

ทั้งนี้ ชื่อ “วัดโสทร” ปรากฏในหลักฐานจดหมายเหตุพระราชหัตถเลขาเมื่อคราวพระบาทสมเด็จมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสมณฑลปราจีนบุรี ใน ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑) พระราชหัตถเลขาถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกมาร จำนวน ๒ ฉบับ ฉบับแรกทรงบันทึกเรื่องราวระหว่างการเสด็จประพาสไปยังอำเภอศรีมหาโพธิ และหลังจากที่พระองค์ได้เสด็จกลับไปประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถานแล้ว จึงมีพระราชหัตถเลขา ฉบับที่ ๒ โดยเป็นเรื่องราวระหว่างการเสด็จนิวัตมายังพระนคร ความว่า
“…กลับมาแวะวัดโสทรซึ่งกรมหลวงดำรงคิดจะแปลว่า ยโสธร จะให้เกี่ยวข้อง
แก่การที่ได้สร้างเมื่อเสด็จกลับจากไปตีเมืองเขมรแผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถ
หรือเมื่อใดราวนั้น แต่เปนที่น่าสงสัยด้วยเห็นใหม่นัก..”[2]
เห็นได้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว วัดแห่งนี้มีนามว่า “วัดโสทร”โดยยังเป็นการสะกดด้วยตัว “ท” ซึ่งในขณะนั้นสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีพระวินิจฉัยว่า อาจเป็นชื่อที่มาจากคำว่า โสธร หรือไม่ หากแต่อาคาร ศาสนสถานต่าง ๆ ภายในวัดก็ยังดูใหม่ จึงไม่น่าจะมีความเก่าแก่ไปถึงสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.๑๙๙๖ – ๒๐๓๑) ทั้งนี้ ต่อมาภายหลังนามวัดเปลี่ยนการสะกดคำเป็น “วัดโสธร” ดังเช่นปัจจุบัน
วัดโสธรวรารามนี้ เมื่อพิจารณาจากทำเลที่ตั้งถือว่าเป็นวัดที่มีลักษณะดี ด้วยมีทำเลที่ตั้งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่ธรณีสงฆ์ในการรักษาศาสนาสืบไป ตั้งอยู่ฝั่งแหลม มีแม่น้ำบางปะกงโอบล้อมทางทิศใต้จากความเชื่อเรื่อง “ฮวงจุ้ย” ในธรรมเนียมจีน ทำเลลักษณะนี้เรียกว่า “ที่มังกร” ซึ่งมีคำทำทำนายว่า หากพระพุทธรูปได้ประทับ ณ สถานที่แห่งนี้ จะเกิดรัศมีบารมี และความศักดิ์สิทธิ์ในอันที่จะรักษาบ้านเมืองและสืบทอดพระพุทธศาสนาสืบต่อไป คงจะเป็นด้วยเหตุนี้ พระพุทธโสธรจึงได้ตัดสินใจขึ้นประทับ ณ วัดหงส์ในเดือนยี่ติดต่อเดือนสามตามตำนาน[3]
นอกจากวัดนี้จะมีความสำคัญในฐานะเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองแล้ว ยังเป็นสถานที่สำคัญเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกด้วย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นใน พ.ศ.๒๔๔๕๓ ตามแบบอย่างในรัชกาลก่อน ๆ พ.ศ. ๒๔๕๔ โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีราชาภิเษกสมโภช โดยมีการตักน้ำจากแตามมณฑลต่าง ๆ ที่ถือว่าเป็นแหล่งสำคัญ และเป็นสิรินสิริมงคลไปตั้งทำพิธี ณ วัดสำคัญในมณฑลต่าง ๆ ๑๐ มณฑลรวมกับมหาเจดีย์ที่สำคัญอีก ๗ แห่ง ซึ่งวัดโสธรวรารามได้รับเลือกให้เป็นสถานที่ตั้งพิธีสำคัญดังกล่าวตราบจนปัจจุบัน[4] ทั้งนี้ ในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้น จังหวัดฉะเชิงเทราได้จัดพิธีพลีกรรมตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อประกอบพิธีทำน้ำอภิเษก เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ บริเวณปากน้ำโจ้โล้ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยอัญเชิญขันน้ำสาครและที่ตักน้ำ นำไปเก็บรักษาไว้ ณ พระอุโบสถ วัดโสธรวราราม วรวิหาร พระอารามหลวง ซึ่งเป็นสถานที่จัดพิธีทำน้ำอภิเษกของจังหวัดฉะเชิงเทรา

แต่เดิมวัดแห่งนี้มีสถานะเป็นวัดราษฎร์ ต่อมาเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดโสธรวรารามขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดสำคัญประจำหัวเมือง พระราชทานนามว่า “วัดโสธรวราราม วรวิหาร” หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็ทรงให้การอุปถัมภ์อย่างสม่ำเสมอ ต่อมาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๑ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร[5] และภายหลัง เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ได้รับพระราชทานเขตวิสุงคามสีมาใหม่อีกครั้ง โดยมีขนาดกว้าง ๕๕ เมตรและยาว ๑๔๐ เมตร
นอกจากนี้ วัดโสธรวรารามยังเปิดการศึกษาเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม และโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญ เปิดสอน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๙ โรงเรียนผู้ใหญ่วัด เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒

ที่ตั้ง #
เลขที่ ๑๓๔ ถนนศรีโสธร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา รหัสไปรษณีย์ ๒๔๐๐๐
ช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของแหล่งท่องเที่ยว
เฟซบุ๊ก(เพจ): วัดโสธรวรารามวรวิหาร https://www.facebook.com/watsothornwararam
เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ
๐-๓๘๕๑-๑๐๔๘
วัน เวลา เปิดทำการ
วันจันทร์-ศุกร์ เวลา ๐๗.๐๐ – ๑๖.๓๐ น.
วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา ๐๗.๐๐ – ๑๗.๐๐ น.
ช่วงเดือนที่เหมาะสมต่อการท่องเที่ยว
มกราคม – ธันวาคม
ขนาดพื้นที่ #
ข้อมูลของกรมการศาสนาใน พ.ศ. ๒๕๔๓ ระบุว่า ที่ดินตั้งวัด มีเนื้อที่ ๑๒๑ ไร่ ๑ งาน ๖๔ ตารางวา มีที่ธรณีสงฆ์ จำนวน ๗ แปลง เนื้อที่ ๑๗๑ ไร่ ๕๔ ตารางวา[6]
การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวต่อวัน หากเลือก “จำกัด” ให้เลือก “อื่น ๆ” อีกหนึ่งช่อง เพื่อระบุจำนวนนักท่องเที่ยวที่จำกัด กี่คน/วัน
ไม่จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว
การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว
ทั้งทางบก และทางน้ำ
ลักษณะเด่นของแหล่งท่องเที่ยว
๑. พระพุทธโสธร

๒. พระอุโบสถทรงจตุรมุขแบบปราสาท

๓. มหาวิหารหลวงพ่อโสธร

๔. โรงเจ

งานเทศกาลหรือประเพณีที่เกี่ยวข้องกับแหล่งท่องเที่ยว #
๑. งานเทศกาลกลางเดือน ๕ ซึ่งถือว่าเป็นงาน “วันเกิด” หลวงพ่อโสธร รวม ๓ วัน ๓ คืน ตั้งแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำ จนถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๕ เทศกาลนี้เรียกได้ว่า มาก่อนงานเทศกาลอื่น ถือว่าเป็นงานสมโภชวันคล้ายวันที่อาราธนาหลวงพ่อขึ้นจากน้ำ และอัญเชิญท่านมาประดิษฐานที่วัดโสธร ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ ชาวแปดริ้วจะแห่หลวงพ่อทางบกไปตามหมู่บ้านใกล้ ๆ วัด แล้วอัญเชิญองค์ท่านกลับมายังวิหาร ครั้นตกเย็นพระสงฆ์ก็จะเจริญพระพุทธมนต์ ในวันรุ่งขึ้น คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ จะมีการทำบุญใส่บาตรฉลอง เวียนเทียน และสรงน้ำหลวงพ่อ มหรสพสมโภชประจำ คือ ละครหรือลิเก และงิ้ว ที่น่าสังเกตก็คืองานเทศกาลนมัสการหลวงพ่อทุกคราว จะมีมหรสพไทยและจีนคู่กันเสมอ ไม่เคยเว้นเพราะถือว่าประชาชนทั้งชาวไทยและจีนได้ร่วมใจกันอาราธนาหลวงพ่อขึ้นจากน้ำ

๒. งานเทศกาลกลางเดือน ๑๒ จัดขึ้น ๕ วัน ๕ คืน ตั้งแต่วันขึ้น ๑๒ ค่ำ ไปจนถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ งานเทศกาลนี้จัดมาเนิ่นนานกว่าร้อยปีแล้ว คือ เริ่มมีขึ้นในราว พ.ศ. ๒๔๓๔ ผู้ริเริ่มจัดงานกลางเดือน ๑๒ คือ โต้โผทรัพย์ เจ้าของละครคลองโสธร มูลเหตุมีอยู่ว่า ในปีนั้น ประชาชนชาวโสธรประสบทุพภิกขภัย ข้าวยากหมากแพง ฝนแล้ง ข้าวและผลหมากรากไม้ไม่ได้ผล โรคห่า (อหิวาต์) และโรคพุพอง (ฝีดาษ) ระบาดทั่วไป ผู้คนและสัตว์เลี้ยงล้มตายเป็นอันมาก ประชาชนทิ้งบ้านเรือนไร่นาเพื่อหนีโรคภัย ผู้เจ็บป่วยไปไม่ไหว ก็รอวันตาย เพราะหาหมอรักษาได้ยาก บรรดาคนที่ป่วยเหล่านั้น ถึงตนไร้ญาติมิตรป่วย เมื่อถึงคราวเข้าตาจนเช่นนี้ บรรดาพุทธศาสนิกชนจะมีอะไรเป็นที่พึ่งยิ่งไปกว่าพระ ต่างคนจึงพากันบนบานศาลกล่าวต่อหลวงพ่อให้ช่วยลูกช้างด้วย บ้างก็ขอยาดี หลวงพ่อ คือ ขี้ธูปบ้าง น้ำมนต์บ้าง ดอกไม้ที่บูชาบ้าง รับมาทานมาทา บ้างก็บนบานว่า ถ้าหายแล้วจะปิดทอง บ้างก็บนบานด้วยละครและมหรสพสมโภช คนไทยบนด้วยลิเกและละครแก้บน ฝ่ายคนจีนก็บนงิ้ว ล่อโก๊ สิงโต ฯลฯ ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อเป็นเรื่องมหัศจรรย์ยิ่งนัก จู่ ๆ ฟ้าฝนซึ่งแห้งแล้งอยู่นานก็โปรยปรายลงมา นำพาให้ประชาเบิกบานแผ่นดินชุ่มชื่นโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ หายเป็นปลิดทิ้ง ชาวบ้านชาวเมืองจึงร่วมกับนายทรัพย์จัดงานฉลองสมโภชหลวงพ่อครั้งใหญ่เพื่อแก้บน แรกทีเดียว


งานเทศกาลในเดือนนี้มี ๓ วัน คือวันขึ้น ๑๔ – ๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ จึงได้จัดเพิ่มอีก ๒ วัน คือ วันขึ้น ๑๒ – ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๒ จึงรวมทั้งสิ้นเป็น ๕ วัน และถือปฏิบัติสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้ ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ มีการแห่หลวงพ่อทางบก วันขึ้น ๑๕ ค่ำ มีการแห่ทางน้ำ และวันแรม ๑ ค่ำ ซึ่งเป็นงานวันสุดท้าย มีการเวียนเทียนและสรงน้ำพระ สำหรับการแห่หลวงพ่อทางเรือนั้น เดิมทีเดียวไม่มีการแห่หลวงพ่อทางเรือลงไปถึงตำบลท่าพลับ (โรงสีล่าง) และที่อำเภอบ้านโพธิ์ แต่เนื่องจากนายทรัพย์ผู้เป็นโต้โผละครอาชีพดังกล่าว ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า “โต้โผทรัพย์” ได้นำละครไปแสดงในที่ต่าง ๆ เมื่อประมาณ ๙๐ ปีมาแล้ว ได้นำละครไปแสดงที่โรงบ่อนท้ายตลาดโรงสีล่าง ตำบลท่าพลับ อำเภอบ้านโพธิ์ ขณะที่ลูกสาวโต้โผทรัพย์กำลังแสดงละครอยู่ ได้มีสมัครพรรคพวกของผู้มีอิทธิพลอยู่ในขณะนั้น อุ้มลูกสาวโต้โผทรัพย์ไป ทั้งที่มีเครื่องละคร โต้โผทรัพย์ไม่มีทางเลือกปฏิบัติเป็นอย่างอื่น นอกจากจะหันเข้าพึ่งบารมีหลวงพ่อโสธร โดยบนบานว่า ถ้าได้ลูกสาวกลับคืนมาจะแห่หลวงพ่อมาสมโภชที่โรงสีล่าง ตำบลท่าพลับ ด้วยบุญญาอภินิหารของหลวงพ่อโสธรทันตาเห็น โต้โผทรัพย์ก็ได้ลูกสาสาวกลับคืนมายใน ๓ วัน นับแต่นั้นมา ก็ได้มีการแห่หลวงพ่อโสธรทางเรือมาถึงโรงสีล่าง แล้วแห่ต่อไปถึงอำเภอบ้านโพธิ์เป็นประเพณีสืบมาจนบัดนี้…

๓. งานเทศกาลตรุษจีน จัดตามจันทรคติของจีน คือ ตั้งแต่วันขึ้น ๔ ค่ำ ปีใหม่ (ชิวอิด) ไปจนถึงวันขึ้น ๕ ค่ำ (ชิวโหงว) รวม ๕ วัน ๕ คืน ถ้าเทียบเป็นเดือนไทยก็คือราวเดือนยี่หรือเดือน ๓ ในเทศกาลตรุษจีนนี้ มีประชาชนชาวจีนไปนมัสการหลวงพ่อมากกว่าปกติ แรกเริ่มเดิมที ถึงเทศกาลตรุษจีนครั้งใด ชาวจีนจะจัดงานรื่นเริงถวายหลวงพ่อ มีงิ้วล่อโก๊ และเชิดสิงโต หัวหน้างานก็ทำหน้าที่ต้อนรับบริการเลี้ยงดูและจัดให้มีโรงทาน ต้มข้าวต้มให้เป็นทานตลอดงาน มีอยู่ช่วงหนึ่งที่งานนี้งดไปหลายปี จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๐๒ คณะกรรมการจัดงาน มีนายประพันธ์ (หงิน) เจริญรุ่งเรือง เป็นประธานพร้อมด้วยสมาคมชาวจีน พ่อค้า ข้าราชการและประชาชนจึงได้จัดให้มีงานต้อนรับเทศกาลตรุษจีนขึ้นที่วัดโสธรเป็นการเปิดศักราชใหม่ โดยกำหนดให้มีงาน ๕ วัน ๕ คืน มีทั้งการแห่หลวงพ่อทางบกเพื่อประพรมน้ำพระพุทธมนต์และอวยพรปีใหม่ในวันชิวอิด และจัดแสดงมหรสพทั้งงิ้ว ลิเก และการละเล่นอื่นๆ เป็นการสมโภช งานเทศกาลตรุษจีนจึงกลายเป็นงานประจำของหลวงพ่อนับแต่นั้นเป็นต้นมา

- กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ, ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๑๙, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๔๓), หน้า ๑๗๒-๑๗๓. ↩︎
- กรมศิลปากร, พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล่าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑) คราวเสรด็จประพาสมณฑลปราจีนบุรี, (พิมพ์ในงานพระเมรุ พลเอก สมเด็พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วันที่ ๒๙ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๙๕), (กรุงเทพมหานคร: ม.ป.ท., ๒๔๙๕), หน้า ๑๔. ↩︎
- เลิศลักษณา บุญเจริญ (บรรณาธิการ). โสธรรรรารามวรวิหาร มงคลคู่แปดริ้ว (ที่ระลึกในงานพระราชพิธียกยอดฉัตรพระอุโบสถหลังใหม่). (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์ดาวฤกษ์ จำกัด, ๒๕๕๕๔), หน้า ๓๓. ↩︎
- กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทย, วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดฉะเชิงเทรา, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, ๒๕๔๔), หน้า ๘๒. ↩︎
- กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ, ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๑๙, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา. ๒๕๔๓), หน้า ๑๗๒ – ๑๗๓. ↩︎
- กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ, ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๑๙, (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๔๓), หน้า ๑๗๒. ↩︎