ตลาดบ้านใหม่ ๑๐๐ ปี #
สภาพโดยทั่วไป ชุมชนตลาดบ้านใหม่มีลักษณะเป็นอาคารไม้เรียงรายต่อเนื่องกันเป็นแนวยาวขนานกับแม่นำบางปะกง โดยตัวอาอาคารจะหันหน้าเข้าหากันซ้ายขวา มีทางเดินตรงกลางและมีสะพานข้ามคลองบ้านใหม่ที่เชื่อมระหว่างชุมชนตลาดบนกับชุมชนตลาดบ้านใหม่ ตลาดบ้านใหม่นี้มีห้องแถวอยู่ประมาณ ๒๐๕ ห้องแถว โครงสร้างทำด้วยไม้ทั้งหลัง เป็นห้องแถวชั้นเดียว และชั้นครึ่งตลาดบ้านใหม่ แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ
๑) ตลาดบนหรือหัวตลาด เป็นส่วนของทางเข้าและออกบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่ทับทิม
๒) ตลาดกลางหรือกลางตลาด เป็นส่วนที่ต่อเนื่องจากตลาดบนและ
๓) ตลาดล่างหรือท้ายตลาด เป็นส่วนของทางเข้าและออกตลาดฝั่งชุมชนตลาดบ้านใหม่ บริเวณนี้เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อโกมินทร์[1]
ตลาดบ้านใหม่ เป็นตลาดการค้าริมน้ำ เดิมใช้การสัญจรทางน้ำเป็นหลัก จึงส่งผลให้ตลาดบ้านใหม่มีท่าเรืออยู่มากมาย ปัจจุบันมีท่าเรือ ๓ ท่าเรือ คือ (๑) ท่าเรือฝั่งตลาดบ้านใหม่ บริเวณหน้าร้านป้าหนู (๒) ท่าเรือต้นโพธิ์ฝังตลาดบ้านใหม่ บริเวณใกล้สะพานข้ามคลองบ้านใหม่ และ (๓) ท่าเรือของชุมชนตลาดบนบริเวณหัวตลาด

จากหลักฐานประวัติศาสตร์เมืองฉะเชิงเทรากล่าวได้ว่า จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นชุมชนที่มีความสำคัญในด้านต่างๆ ตามยุคสมัย ดังนี้[2]
ยุคอู่ทอง เป็นเมืองสำคัญทางด้านการเมืองการปกครอง และทางด้านเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์ทางด้านการค้ากับนานาประเทศในภูมิภาค เช่น จีน อินเดีย
ยุคธนบุรี เป็นยุคที่สำคัญทางด้านเศรษฐกิจ มีความสัมพันธ์ทางด้านการค้ากับชาวจีนโดยเฉพาะชาวจีนแต้จิ๋ว เดินทางเข้ามาสยามเพื่อประกอบอาชีพแถบอ่าวไทยฝั่งตะวันออกในเมืองต่าง ๆ เช่น เมืองฉะเชิงเทรา เมืองตราด เมืองจันทบุรี
ยุครัตนโกสินทร์ เป็นช่วงสำคัญทางด้านอุตสาหกรรมน้ำตาลทราย ทำให้มีการทำไร่อ้อยขนาดใหญ่เพื่อส่งออกนอกประเทศ
เห็นได้ว่า ในแต่ละยุคสมัยฉะเชิงเทรามักมีความสำคัญในแง่ของเศรษฐกิจและการค้าทั้งพื้นที่ที่เอื้ออำนวยในการเพาะปลูกหรือตั้งโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้งยังมีท่าเรือที่สำคัญโดยเฉยเฉพาะท่าเรือที่อยู่บริเวณชุมชนตลาดบ้านใหม่ ในการเชื่อมโยงสินค้าจากพื้นที่อื่นๆ เข้าสู่เมืองหลวงปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้เกิดแรงจูงใจของชาวไทยและชาวจีนในการอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งเพื่อทำการค้าและก่อให้เกิดเป็นชุมชนทางการค้าที่สำคัญของเมืองแปดริ้วขึ้น

ตลาดบ้านใหม่ เป็นย่านชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋วและย่านเศรษฐกิจเก่าแก่ของเมืองแปดริ้ว มีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปี มาแล้ว แต่เดิมเรียกกันว่าตลาดริมน้ำ ตามที่สำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี ได้รวบรวมประวัติความเป็นมาของย่านตลาดบ้านใหม่ไว้นั้น สันนิษฐานว่า ย่านตลาดบ้านใหม่ที่ปรากฏให้เห็นในปัจจุบันได้สร้างขึ้นมาใหม่ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๔๗ – ๒๔๔๘ แทนตลาดริมน้ำเดิมซึ่งถูกไฟไหม้ไป แต่เดิมตัวตลาดแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนคือ ตลาดบน หรือตึ้งบน กล่าวกันว่า ขุนอินทรนรกิจเป็นผู้ตั้งขึ้น บางครั้งจึงเรียกกันว่า ตลาดอินทรนรกิจ ตลาดบนตั้งอยู่ทางด้านเหนือของคลองบ้านใหม่ข้างวัดเทพนิมิตต่อเนื่องไปจนถึงวัดจีนประชาสโมสร (เล่งฮกยี่) ส่วนตลาดล่าง หรือตั้งล่างเป็นห้องแถวไม้ต่อเนื่องไปจนถึงหัวตลาดและต่อเนื่องลงไปจนถึงวัดอุภัยภาติการาม (วัดจำปอกง) เป็นตลาดที่ขุนอินอัษฎาริวานุวัตร (จีนฮี้) กับขุนอินพิพิธพาณิชยกรรม (จีนแดง) คหบดีชาวจีนเป็นผู้ตั้งขึ้น โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ กล่าวถึงเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชดำเนินเมืองฉะเชิงเทราในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ เพื่อเปิดเส้นทางรถไฟสายตะวันออกและได้เสด็จทอดพระเนตรย่านตลาดบ้านใหม่ บริเวณตลาดบนและตลาดล่างใจความว่า[3]
“วันที่ ๒๕ มกราคม ๑๒๖ เวลาบ่ายเกือบ ๔ โมง เสด็จทรงเรือกลไฟนัมเบอร์ ๑
แต่ท่าตำหนักที่ประทับแรมขึ้นไปเหนือน้ำเสด็จที่ท่าตลาดบ้านใหม่
ทอดพระเนตรตลาดนั้นไปจนสุดตลาดแล้วเสด็จวัดพระเจ็กซึ่งอยู่ห้องตลาด
ตอนข้างเหนือ….แล้วเสด็จลงเรือที่ท่าสุดตลาดข้างเหนือ มาเสด็จขึ้นที่บ้านจีนฮี้
จีนแดงสองคนพี่น้องซึ่งอยู่ตลาดลงมาทอดพระเนตรตลาดของจีน
ทั้งสองคนนี้ตลาดนี้ไม่ใหญ่โตอันใดนัก…”
ย่านตลาดบ้านใหม่ พัฒนาขึ้นและมีการขยายพื้นที่เดิม โดยเติมบริเวณริมคลองบ้านใหม่ทางด้านใต้ออกไป เรียกว่า ตลาดกลาง โดยใช้เชื่อมต่อกับตลาดบนด้วยสะพานไม้ย่านตลาดบ้านใหม่จึงคึกคักมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (พ.ศ. ๒๔๘๒ – ๒๔๘๘)
เนื่องจากมีชาวกรุงเทพ ฯ อพยพหนีภัยสงครามมาอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นจำนวนมาก มีร้านค้าเปิดขายสินค้าอุปโภคบริโภคมากกว่า ๑๒๐ ร้าน ทั้งร้านเสื้อผ้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขายขนมและของเด็กเล่น ร้านตัดผม โรงบ่อน โรงยาฝิ่น เป็นต้น
รูปแบบตลาด ร้านค้าในอดีตของตลาดบ้านใหม่นั้น สรัญญา สมนึก[4] กล่าวว่า ร้านค้าเปิดขายสินค้าตั้งแต่เช้ามืดไปจนถึง ๔ – ๕ ทุ่ม เนื่องจากมีผู้คนเดินทางไปมาตลอดเวลาในส่วนของตลาดบนจะสร้างขนานกับแนวชายฝั่งแม่น้ำบางปะกงหันหน้าเข้าหากัน มีทางเดินปูด้วยไม้กระดาน ลักษณะอาคารส่วนใหญ่เป็นเรือนแถวไม้ชั้นเดียว หลังคาเครื่องไม้มุงสังกะสี กระเบื้องซีเมนต์หรือกระเบื้องว่าว ด้านหน้ามีกันสาดมุงด้วยสังกะสี ฝาเรือนแถวมีทั้งฝาไม้กระดานและฝาสังกะสีลูกฟูก ด้านหน้าอาคารช่วงบนเหนือกรอบประตูมีช่องลมไม้ระแนงหลากหลายรูปแบบบานประตูเป็นแบบบานเฟี้ยมหรือฝาหน้าถัง ภายในอาคารมีชั้นลอยสำหรับใช้เป็นที่พักอาศัยหรือเก็บสิ่งของส่วนตลาดกลางเป็นกลุ่มอาคารหรือแถว หลังคาเครื่องไม้มุงสังกะสีลูกฟูก ซึ่งเป็นวัสดุก่อสร้างแบบใหม่ที่เข้ามาในสมัยนั้น ฝาเป็นไม้กระดานตีทับแนวนอน มีช่องลมไม้ระแนงโปร่ง มีอาคารโถงอยู่ตรงกึ่งกึ่งกลางเพื่อเป็นที่ตั้งแผงขายอาหารสด ตลอดแนวทางเดินมีหลังคาคลุม ซึ่งตลาดล่างก็มีลักษณะเป็นเรือนแถวเช่นเดียวกัน ลักษณะของสถาปัตยกรรมของหมู่อาคารในย่านตลาดบ้านใหม่นี้ยังคงเอกลักษณ์ของรูปแบบอาคารในสมัยรัชกาลที่ ๕ – ๖ ปลูกสร้างต่อเนื่องกันอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำบางปะกงอย่างชัดเจน ลักษณะเศรษฐกิจและสังคม หลังจากที่ได้สร้างตลาดบ้านใหม่แทนที่ตลาดเดิม ทำให้ตลาดแห่งนี้มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง มีการค้าขายสินค้าทั้งของกินของใช้ที่หลากหลายมากขึ้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนที่ทำการเปิดร้านขายสินค้ามากกว่า ๑๒๐ ร้าน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ชุมชนบ้านใหม่พร้อมใจกันฟื้นฟูตลาดชุมชนอายุกว่า ๑๐๐ ปี เปิดตลาดบ้านใหม่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดฉะเชิงเทราพร้อมให้นักท่องเที่ยวเข้าเยี่ยมขมวิถีชีวิตย้อนยุค พื้นที่ฉะเชิงเทราถือว่าเป็นจังหวัดหนึ่งที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์บ้านเรือนเก่า ๆ ที่สวยงามและมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งมีวิถีชีวิตชุมชนที่มีมนต์เสน่ห์เฉพาะท้องถิ่น

พัฒนาการชุมชนริมน้ำ ตลาดบ้านใหม่
ชุมชนตลาดบ้านใหม่ มีการพัฒนาของชุมชนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อตั้งชุมชนตลาดบ้านใหม่ เป็นต้นมา ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้มีทั้งยุคที่รุ่งเรืองที่สุดและตกต่ำที่สุด แต่ชุมชนยังคงสามารถปรับตัวท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้และยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ในด้านวัฒนธรรม ประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีนไว้อย่างแนบแน่นจนถึงปัจจุบัน ดังที่ สรัญญา สมนึก[5] ได้กล่าวถึงพัฒนาการของชุมชนตลาดบ้านใหม่ ซึ่งสรุปได้ว่า พัฒนาการของชุมชนตลาดบ้านใหม่ แบ่งออกได้เป็น ๕ ช่วง ดังนี้
ยุคที่ ๑ ยุคก่อตั้งชุมชน (พ.ศ. ๒๓๑๐ – ๒๓๕๓) ระยะเวลา ๔๓ ปี ในช่วงยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นชาวจีนได้อพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยมากขึ้น โดยเข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินในช่วงแรกบริเวณสำเพ็งและเยาวราช และกระจายตัวออกไปโดยใช้เส้นทางสัญจรทางน้ำ ดังนี้
๑) เส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพฯ-อยุธยา-อ่างทอง-นครสวรรค์-อุทัยธานี
๒) เส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมต่อแม่น้ำท่าจีน กรุงเทพฯ-อยุธยา-สุพรรณบุรี
๓) เส้นทางแม่น้ำท่าจีน กรุงเทพฯ-นครปฐม-ราชบุรี
๔) เส้นทางแม่น้ำบางปะกง กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-สมุทรสาคร
ในช่วงเวลานั้นมีการค้าขายผลผลิตทางการเกษตรจำพวกน้ำตาลและข้าว ชาวจีนที่อพยพตามเส้นทางสัญจรทางน้ำ ได้ชื่อขายผลผลิตเพื่อนำกลับมาขายยังเมืองหลวงแล้วส่งขายยังต่างประเทศชุมชนริมน้ำ ตลาดบ้านใหม่ ตั้งอยู่ริมน้ำ ด้วยเหตุผลของทำเลที่ตั้งที่เป็นแหล่งผลิตสินค้าทางการเกษตร และเส้นทางการขนส่งสินค้า การขยายตัวของชุมชนในยุคการก่อตั้งชุมชนเริ่มจากชาวจีนเข้ามาใช้แรงงานปลูกอ้อย อุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล ค้าขายทั่วไป โดยมีชุมชนตลาดซึ่งเป็นอาคารชั่วคราวสำหรับค้าขายเล็กๆ น้อยๆ นอกจากนั้นบริเวณชุมชนยังเป็นจุดพักจอดเรือเมล์แดงสำหรับรับผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางไปยังเมืองหลวง และมีเรือแพนาวาจอดเรียงรายกันเต็มไปหมด จึงเป็นย่านชุมชนสำคัญแห่งหนึ่งของแปดริ้ว
ลักษณะทางกายภาพ การตั้งถิ่นฐานของชุมชนมีลักษณะเกาะตัวอยู่ริมน้ำ คือ คลองบ้านใหม่มีการเกาะตัวแนวขวางกับลำคลอง รูปแบบทรงสถาปัตยกรรมเป็นเรือนห้องแถวค้าขายแบบคนจีนมีลักษณะเรือนเครื่องผูกมุงอยู่กันอย่างเบียดเสียด มีถนนแคบ ๆ ตลาดขายของลักษณะเป็นอาคารชั่วคราวเปิดโล่ง ขนาดของชุมชนมีขนาดเล็ก การสัญจรเดินทางติดต่อกับบริเวณโดยรอบชุมชนและชุมชนใกล้เคียงใช้การสัญจรทางน้ำเป็นหลัก ส่วนการสัญจรทางบกใช้เกวียนเป็นพาหนะการที่ตัวชุมชนเป็นจดพักรับผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางไปยังกรุงเทพฯ ทำให้ชุมชนเริ่มมีบทบาทด้านการค้าสินค้าการเกษตร
ลักษณะเศรษฐกิจ ในยุคแรกจะเป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าทางการเกษตรตลาดจะเป็นตลาดแบบชั่วคราวหรือตลาดนัด ไม่มีการปลูกสร้างอาคารที่มั่นคงถาวรมากนัก ใช้บริเวณท่าน้ำเป็นที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนหรือขนถ่ายสินค้า
ลักษณะทางเชื้อชาติ เริ่มมีชาวจีนเข้ามาทำการค้าขายในพื้นที่จำนวนมาก ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อชาติจีนที่อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่ แม้ว่าภายในชุมชนเริ่มมีชาวจีนเข้ามาทำมาหากินก็ไม่ได้สร้างปัญหาหรือความขัดแย้งต่อชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เดิม เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่มีอุปนิสัยถ้อยทีถ้อยอาศัย มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีการประกอบอาชีพที่มีลักษณะสัมพันธ์กันระหว่างผู้ผลิตกับผู้จำหน่ายโครงสร้างของชุมชน ประกอบไปด้วย วัด ที่เป็นศูนย์รวมของชุมชน คือ วัดจีนประชาสโมสร หรือเล่งฮกยี่ อยู่ตรงข้ามตลาดบ้านใหม่ เป็นพุทธสถานจีนฝ่ายมหายาน
ยุคที่ ๒ ยุคที่มีการแข่งขันอุตสาหกรรมน้ำตาลกันทั่วโลกสู่ยุครุ่งเรืองของตลาดบ้านใหม่ (พ.ศ. ๒๓๕๓ – ๒๓๙๘) จากการสร้างโรงงานหีบอ้อยเพื่อรับซื้อผลผลิตจากชุมชนโดยรอบ และการเป็นจุดเชื่อมต่อการคมนาคมทางน้ำ ทำให้ชุมชนเริ่มมีพัฒนาการทางด้านการค้ามากขึ้น มีชาวจีนเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเข้ามาใช้แรงงานในโรงหีบอ้อย ต่อมาเมื่อมีการแข่งขันกันทั่วโลกทำให้อุตสาหกรรมน้ำตาลที่เจริญรุ่งเรืองได้สิ้นสุดลง สวนอ้อยของชาวจีนไม่สามารถแข่งขันได้เนื่องจากค่าแรงงานกรรมกรสูงขึ้น ทำให้การปลูกข้าวของคนไทยมีเพิ่มมากขึ้นทำให้กรรมกรชาวจีนพากันไปรับจ้างทำงานที่โรงสีข้าว บางส่วนก็ประกอบอาชีพอื่นตามความชำนาญของเชื้อสายหรือถิ่นภาษาที่อยู่ดั้งเดิม การพัฒนาทางการค้าขายทำให้ชุมชนมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วและมีระบบจนเรียกได้ว่า เป็นช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดของชุมชนริมน้ำ ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจของชาวบ้านในชุมชนดีขึ้น
ลักษณะทางกายภาพ เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเป็นห้องแถวไม้จริงมากขึ้น ขนาดของชุมชนเริ่มขยายตัวขึ้น ความหนาแน่นของอาคารบ้านเรือนเพิ่มมากขึ้นผู้ที่ทำการค้าขายเกือบทั้งหมดจะเป็นชาวจีนหรือชาวไทยเชื้อสายจีน แต่ในระยะต่อมาเมื่อตลาดมีการเจริญเติบโตอย่างมากชาวบ้านดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณรอบ ๆ ชุมชนเริ่มที่จะเข้ามาขอเช่าเรือนไว้สำหรับค้าขายสินค้าและบางส่วนใช้พักอาศัยทางด้านการสัญจร
ลักษณะเศรษฐกิจและสังคม เป็นศูนย์กลางการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะอ้อยที่มีทั้งชาวสวนนำมาขายเองที่ตัวชุมชนหรือเจ้าของซึ่งเป็นชาวจีนถ่อเรือเอี้ยมจีนไปซื้อถึงที่บ้านซึ่งอยู่บริเวณรอบๆ ชุมชน เป็นลักษณะพ่อค้าคนกลาง ในระยะหลังมามีการแข่งขันทางการตลาดมากขึ้นทำให้โรงหีบอ้อยได้รับผลกระทบ อุตสาหกรรมน้ำตาลตกต่ำลงทั่วโลก ทำให้อาชีพทำน้ำน้ำตาลในชุมชนชะงัก ข้าวมีความสำคัญมากขึ้น ชาวจีนจึงหันเหไปประกอบอาชีพอื่นก่อให้เกิดความหลากหลายทางด้านอาชีพของตลาดบ้านใหม่ จากการรับซื้ออ้อยอย่างเดียวมาเป็นศูนย์กลางค้าขาย อาชีพรับจ้างต่างๆ เช่น รับจ้างสีข้าวชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง มีร้านทองร้านขายยา ร้านทำฟัน ร้านอุปกรณ์การเกษตร ร้านตีเหล็ก ร้านขายของชำอยู่มากมาย เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ฐานะของคนในชุมชนดีขึ้นก่อให้เกิดการขยายตัวของชุมชนอย่างรวดเร็วมีบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างขึ้นมากมายจากการอพยพเข้ามาค้าขายของชาวจีนทำให้ชุมชนแห่งนี้เต็มไปด้วยพ่อค้าแม่ค้า
ยุคที่ ๓ ยุคเฟื่องฟู มีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ชาวจีนเข้ามาทำการค้าขายในประเทศไทย (พ.ศ. ๒๓๙๘ – ๒๔๔๗)
ลักษณะทางกายภาพ ขนาดของชุมชนขยายเพิ่มขึ้นหลังจากมีการทำสนธิสัญญาเบาริง
ลักษณะเศรษฐกิจและสังคม มีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง เป็นโอกาสด้านการค้าขายสินค้าที่มีลักษณะเป็นเสรีมากขึ้น ทำให้ชาวจีนและชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าภายในตลาดบ้านใหม่เป็นจำนวนมาก
ยุคที่ ๔ ยุคซบเชา (พ.ศ. ๒๔๔๗) ได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นครั้งใหญ่ ณ ตลาดบ้านใหม่ ปรากฏหลักฐานในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ศ. ๑๒๑ – ๑๒๒ ว่า วันที่ ๓๑ มกราคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๒ ถึงกรมหลวงดำรงราชานุภาพ ด้วยได้รับหนังสือมีมายังกรมขุน สมม สมมตอมรพันธุ์ ที่ ๒๒๓๓/๑๑๕๙๐ ลงวันที่ ๒๙ เดือนยี่ ว่าด้วยเรื่องไหม้ พระพิศาลสงครามปลัดเทศาภิบาลพร้อมด้วยข้าราชการได้แบ่งปันหน้าที่ช่วยกันดับเพลิง แลช่วยป้องกันทรัพย์สมบัติของราษฎรมิให้เป็นอันตรายไปในการที่จะมีผู้ร้ายมาฉกชิงวิ่งราวด้วยนั้น ทราบแล้วเรื่องนี้ได้เห็นหนังสือพิมพ์ลงข่าวนานแล้วที่ตรวจตรา ดังนี้ เป็นการดีแล้ว ซึ่งสาเหตุที่ทรงชมเชยการปฏิบัติหน้าที่ของเทศาภิบาลนี้สืบเนื่องจากการเกิดเพลิงไหม้ในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้นมักจะเกิดความวุ่นวายฉกชิงวิ่งราวทรัพย์สินของผู้ประสบภัยอยู่เสมอ
ลักษณะทางกายภาพ รูปแบบการตั้งถิ่นฐาน ปลูกสร้างด้วยไม้แบบเรือนเครื่องผูกมุงจากอยู่กันเบียดเสียด สภาพบ้านเรือนดังกล่าวทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้บ้านเรือนเกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก
ลักษณะเศรษฐกิจ หลังเกิดเพลิงไหม้ ทำให้เศรษฐกิจของตลาดบ้านใหม่ถึงยุคตกต่ำเป็นอย่างมากเนื่องจากความเสียหายของบ้านเรือน ทำให้การค้าขายหยุดชะงักลง ทำให้ความสัมพันธ์ทางด้านการค้ากับพื้นที่โดยรอบนั้นเงียบเหงา
ยุคที่ ๕ ยุคฟื้นฟูให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (พ.ศ. ๒๔๔๗-ปัจจุบัน) พ.ศ. ๒๔๔๗ – ๒๔๔๘ ได้มีการสร้างตลาดบ้านใหม่ แทนตลาดริมน้ำเดิมซึ่งถูกไฟไหม้ ลักษณะของตลาดในระยะแรกแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ตลาดบน ตลาดล่าง ตลาดบนนั้น กล่าวว่า ขุนอินทรนรกิจได้ก่อตั้งขึ้นอยู่ทางด้านเหนือของลำคลองข้างวัดเทพนิมิตต่อเนื่องไปจนถึงวัดจีนประชาสโมสร (เล่งฮกยี) ส่วนตลาดล่างอยู่บริเวณริมน้ำด้านหน้าวัดอุภัยภาติการาม เป็นตลาดที่ขุนอัษฎาริวานุวัตร (จีนฮี้) กับขุนพิพิธพาณิชย์กรรม (จีนแดง) คหบดีชาวจีนเป็นผู้ก่อตั้งการสัญจรทางน้ำและการค้าบริเวณตลาดท้องน้ำส่งผลให้ย่านตลาดบ้านใหม่พัฒนาขึ้น มีการขยายพื้นที่ของย่านตลาดบ้านใหม่เพิ่มเติมบริเวณริมคลองบ้านใหม่ทางด้านใต้ เรียกว่า ตลาดกลาง โดยเชื่อมต่อกับตลาดบนด้วยสะพานไม้ตัวตลาดกลางนี้จะยาวต่อเนื่องไปจนถึงบริเวณที่เรียกว่า หัวตลาด ส่งผลให้ย่านตลาดบ้านใหม่คึกคักเป็นอันมากมีร้านรวงต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของชาวไทยเชื้อสายจีนเปิดขายสินค้าต่าง ๆ มากมายโดยเฉพาะในช่วงก่อนและช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เนื่องจากมีชาวกรุงเทพฯ อพยพหนีภัยสงครามมาอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทราเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ตลาดบ้านใหม่ยังเป็นท่าเรือสำหรับไว้จอดเรือโดยสารขนาดใหญ่ของหลายบริษัท เช่น เรือเมล์ขาว เรือเมล์แดงและเรือใหญ่สองชั้น จึงมีผู้คนเดินทางจากสวนและท้องนามาแวะขึ้นฝั่งก่อนจะเดินทางต่อไปยังพื้นที่อื่นทำให้ร้านขายสินค้าเปิดขายสินค้าตั้งแต่เช้ามืดจนถึง ๕ ทุ่ม ทุกวัน
ต่อมากระแสแห่งวัฒนธรรมและการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่งของเทคโนโลยีปัจจุบันทำให้เส้นทางสัญจรทางนำ ลดบทบาทลง วิถีชีวิตของชาวริมน้ำก็ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป มีสภาพที่เงียบเหงาบ้านเรือนบางส่วนชำรุดทรุดโทรมลง ชาวชุมชนส่วนหนึ่งได้ตระหนักถึงศักยภาพและต้องการที่จะอนุรักษ์วิถีชีวิตของชุมชนย่านตลาดแห่งนี้ไว้ และมุ่งหวังจะสร้างจิตสำนึกที่ดีแก่ลูกหลานของชาวตลาดบ้านใหม่ให้เห็นความสำคัญของแม่น้ำ ลำคลองที่เป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงผู้คนชาวเมืองฉะเชิงเทราในอดีต รวมทั้งเพื่อการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนจึงได้ร่วมมือกับเทศบาลเมืองฉะเชิงเทราและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคกลางเขต ๘ ก่อตั้งเป็นชมรมรักษ์ตลาดบ้านใหม่ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ เพื่อร่วมกันพลิกฟื้นตลาดบ้านใหม่ให้กลับมามีชีวิตชีวาเป็นศูนย์กลางการพบปะซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าอีกครั้ง ทำให้ในปัจจุบันย่านตลาดบ้านใหม่เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ สำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี ได้ดำเนินโครงการบูรณาการเครือข่ายเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาย่านตลาดบ้านใหม่ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อรวบรวมข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของชุมชนแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาย่านตลาดบ้านใหม่ ซึ่งจะเป็นการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เครือข่ายชุมชนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีบูรณาการอันจะทำให้มรดกศิลปวัฒนธรรมของชุมชนประวัติศาสตร์ และการค้าของลุ่มแม่น้ำบางปะกงในย่านตลาดบ้านใหม่ ได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
ที่ตั้ง #
ที่อยู่
ถนนศุภกิจ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา
ช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของแหล่งท่องเที่ยว
อีเมล taladbanmaichachoengsao@gmail.com
เฟซบุ๊ก เพจ ตลาดบ้านใหม่เมืองแปดริ้ว
เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ
๐๙๗ ๒๕๙ ๖๔๓๘
วัน เวลา เปิดทำการ
เปิดให้เข้าชม วันจันทร์-ศุกร์ ๐๘.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. (ร้านจะเปิดน้อย ไม่ครบ) วันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ๐๘.๐๐ – ๑๗.๐๐ น.
ช่วงเดือนที่เหมาะสมต่อการท่องเที่ยว
มกราคม – ธันวาคม
ขนาดพื้นที่
มีพื้นที่ตลาดทั้งหมด ๙,๔๐๐ ตารางเมตร หรือประมาณ ๕.๘๒ ไร่
การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวต่อวัน
ไม่จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว
การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว
ทั้งทางบก และทางน้ำ
ลักษณะเด่นของแหล่งท่องเที่ยว
ความมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมด้านความดั้งเดิมเก่าแก่ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ยังโดดเด่น ลักษณะของโครงสร้างบ้านเรือนที่ยังคงอยู่ในสภาพดั้งเดิม เป็นห้องแถวเรือนไม้เรียงราย รูปแบบที่คล้ายคลึงของเดิมในอดีตวัฒนธรรมชุมชนชาวไทย-จีน การรวมตัวกันของคนหลากหลายศาสนา ไทย พุทธ อิสลาม บรรยากาศของความเป็นตลาดเก่าแก่ที่นักท่องเที่ยวสามารถเห็นได้ถึงความสวยงามด้านวัฒนธรรมของชุมชนตลาด
งานเทศกาลหรือประเพณีที่เกี่ยวข้องกับแหล่งท่องเที่ยว
ประเพณีแจกข้าวสาร, ประเพณีงานงิ้ว, ประเพณีไหว้เจ้า-บรรพบุรุษ ในวันตรุษจีน สารทจีน เชงเม้ง
- ปาณิภัส ติปะวรรณา. ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของตลาดเก่าในฐานะแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม : กรณีศึกษา ตลาดบ้านใหม่และตลาดคลองสวน ๑๐๐ ปี จังหวัดฉะเชิงเทรา. รายงานการวิจัย, (บัณฑิตวิทยาลัย: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๕๖), หน้า ๘๕. ↩︎
- สิทธิกร พันศิริ, แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อรองรับการขยายตัวเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กรณีศึกษาตลาดบ้านใหม่ 100 ปี จังหวัดฉะเชิงเทรา, รายงานการวิจัย, (บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์, 2562), หน้า ๕๑. ↩︎
- สำนักงานศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี, รายงานผลการดำเนินงาน โครงการบูรณาการเครือข่ายเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาย่านตลาดบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา, ๒๕๕๑. ↩︎
- สรัญญา สมนึก, พัฒนาการชุมชนริมน้ำ ตลาดบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา, รายงานการวิจัย, (คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, ๒๕๕๕), หน้า ๗๐. ↩︎
- สรัญญา สมนึก, พัฒนาการชุมชนริมน้ำ ตลาดบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา, รายงานการวิจัย, (คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา, ๒๕๕๕), หน้า ๔๙. ↩︎